ประวัติ ของ วันชาติ (ประเทศไทย)

24 มิถุนายน

หมุดคณะราษฎร

เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2481 รัฐบาลพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (ยศขณะนั้น) ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องวันชาติ ความว่า

ด้วยคณะรัฐมนตรีประชุมปรึกษาและลงมติว่า วันที่ ๒๔ มิถุนายน ย่อมถือว่าเป็นวันชาติ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

– ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง วันชาติ ลงวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2481[1]

ด้วยเหตุที่ว่า การปฏิวัติสยาม จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เกิดขึ้นโดยคณะราษฎร ในวันและเดือนดังกล่าว เมื่อปี พ.ศ. 2475 คณะรัฐมนตรีจึงกำหนดไว้ เพื่อเป็นที่ระลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2483 มนตรี ตราโมท เป็นผู้แต่งเพลงประจำวันชาติของไทยขึ้น โดยให้ชื่อเพลงว่า วันชาติ 24 มิถุนายน[4] อนึ่ง เมื่อวันดังกล่าวถูกยกเลิกในอีก 21 ปีต่อมา เพลงนี้จึงกลายเป็นเพลงที่ประชาชนกลุ่มหนึ่ง ใช้รำลึกวันเริ่มระบอบรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 24 มิถุนายนของทุกปี[5]

วันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์

เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2503 รัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้ถือวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย ความว่า

ด้วยคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นว่า ตามที่ได้กำหนดให้มีการเฉลิมฉลองวันชาติไทยในวันที่ ๒๔ มิถุนายน นั้น ได้ปรากฏในภายหลังว่า มีข้อที่ไม่เหมาะสมหลายประการ ในด้านประชาชนและหนังสือพิมพ์ก็ได้เสนอแนะให้พิจารณาในเรื่องนี้หลายครั้งหลายคราว คณะรัฐมนตรีจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณา โดยมี พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

คณะกรรมการนี้ได้พิจารณาแล้ว เสนอความเห็นว่า ประเทศต่าง ๆ ได้เลือกถือวันใดวันหนึ่งที่มีความสำคัญเกี่ยวเนื่องกับชนในชาติต่าง ๆ กัน โดยถือเอาวันประกาศเอกราช วันอิสรภาพ วันตั้งถิ่นฐาน วันสาธารณรัฐ วันสถาปนาพระราชวงศ์ บ้าง ซึ่งไม่เหมือนกัน แต่ประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของชาติโดยทั่วไป นั้น ได้ถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติ เช่น ประเทศอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ค สวีเด็น ญี่ปุ่น ฯลฯ เป็นต้น แม้ประเทศไทยเราเองก็ได้ถือเอาวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทยมาแล้ว เพิ่งจะมากำหนดเอาวันที่ ๒๔ มิถุนายน เป็นวันชาติเพิ่มขึ้นอีกวันหนึ่งในระยะหลังนี้เอง

คณะกรรมการฯ จึงมีความเห็นว่า เพื่อให้เป็นไปตามขนบประเพณีของประเทศที่พระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเป็นการสมัครสมานสามัคคีรวมจิตใจของบุคคลในชาติโดยทั่วกัน จึงสมควรจะถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทยต่อไป โดยยกเลิกวันชาติในวันที่ ๒๔ มิถุนายน เสีย

คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบด้วย จึงได้ลงมติให้ยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๔๘๑ เรื่อง วันชาติ นั้นเสีย และให้ถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทยด้วยต่อไปตั้งแต่บัดนี้

– ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้ถือวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย ลงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2503[3]

ทั้งนี้ วันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 9 คือวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 ดังนั้นวันชาติ จึงตรงกับวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี[6]

ในปัจจุบัน

แม้ว่าการกำหนดวันสำคัญต่างๆ ของชาติและวันหยุดราชการจะเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี แต่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร, วันพ่อแห่งชาติ และวันชาติ[7] และคณะรัฐมนตรีมีมติให้เป็นวันหยุดราชการ[8]

แหล่งที่มา

WikiPedia: วันชาติ (ประเทศไทย) http://www.baanmaha.com/community/thread36012.html http://www.brh.thaigov.net/information/infor/c/c62... http://www.midnightuniv.org/midnight2545/document9... http://www.t-h-a-i-l-a-n-d.org/talkingmachine/nati... http://www.crma.ac.th/histdept/archives/viewpoint/... http://www.siamrath.co.th/web/?q=node/72876 http://www.culture.go.th/study.php?&YY=2548&MM=11&... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2481/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2503/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/E/...